16/12/56

กองทุนแม่ของแผ่นดิน

กองทุนแม่ของแผ่นดิน


สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอปลายพระยาการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๗

จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอปลายพระยา
มีการดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนแม่ของแผ่นดิน


ประวัติกองทุนแม่ของแผ่นดิน
 
                       โครงการหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน
โครงการพัฒนาความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อการพัฒนาและเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ตามรอยพระยุคลบาท
พัฒนาการและความเป็นมา
                       สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่อยู่คู่ประเทศไทยมานับหลายศตวรรษ และมีบทบาทสำคัญในการจรรโลงประเทศชาติ ยุค สมัยใด ที่ประเทศชาติต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่อาจต้องทำให้ประเทศต้องล่มสลาย สถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นหลักชัยและศูนย์รวมของคนไทยทั้งชาติที่จะฝ่าฟัน วิกฤติปัญหาดังกล่าวจนลุล่วง
ภัยพิบัติอันเกิดจากยาเสพติด นับเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศและนับวันมีแต่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วิกฤติดังกล่าว เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถฯ ซึ่งเป็น พ่อ และแม่ของแผ่นดินทรงมีพระปริวิตกและทรงเรียกร้องให้พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ ร่วมแรงร่วมใจกันเอาชนะวิกฤติปัญหานี้
                   ในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านี้ จากการที่ทรงเล็งเห็นภัยพิบัติของปัญหายาเสพติด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เริ่มโครงการ หลวงเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๑๒ (ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิโครงการหลวง) ซึ่งเป็นพระ บรมราโชบายที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การพัฒนาชาวเขาให้อยู่อาศัยและทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง เลิกการทำลายป่าและเลิกการปลูกฝิ่น ความสำเร็จของโครงการหลวง ได้เป็นที่ยอมรับและรู้จักแพร่หลายในนานาประเทศ จนได้รับรางวัลแมกไซไซ (Ramond Magsaysay Award) ในสาขาInternational Understanding เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ ดังความตอนท้ายของประกาศเกียรติคุณว่า
                   “ จากการให้ความร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลของนานาประเทศและร่วมกันประสานงานโดย หลายหน่วยงานในชาติ โครงการหลวงได้มีส่วนช่วยลดยาเสพติดพิษร้ายแรงของโลกลง และยังช่วยยกระดับความมั่นคงอยู่ดีกินดีแก่ชนชาวเขาทั้งหลายด้วย”
จากพระปรีชาสามารถองค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองคำแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๓๗ และยังได้นำแนวพระราชดำริการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นไปขยายผลยังพื้นที่ต่างๆทั่วโลก
                    ด้วยความห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องเผชิญกับวิกฤติยาเสพติดและเพื่อเป็นกำลังใจต่อกลุ่มมวลชนพลังแผ่นดินที่อาสาต่อสู้กับภัยยาเสพติด ใน วโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จทรงงานเยี่ยมราษฏรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ผ่านมาทางเลขาธิการ ป.ป.ส.หลายท่าน โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายา เสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน
จากยุทธศาสตร์พระราชทาน การเอาชนะปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างถาวรจะต้องยึดถือ “การรู้รักสามัคคี” และ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบพอเพียง” ทั้งสองหลักคิดพระราชทานดังกล่าวล้วนแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณที่รู้ซึ้งอย่างแท้จริงว่า หากผู้คนทุกหมู่เหล่าในสังคม ละความแตกแยก ละความขัดแย้ง เชิดชูสามัคคีธรรม พึ่ง พาพลังของตนเอง รู้จักประมาณในตน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ก็จะเป็นเสมือนพลังอันมหาศาลที่จะร่วมกัน เอาชนะภัยพิบัติต่างๆจนหมดสิ้น
                     ดังนั้น การเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน จึงมีเพียงหนทางเดียวก็คือต้องน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งประเทศทั้งนี้ก็เพราะ ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสังคม จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาโดยมิติทางสังคมทั้งระบบได้แก่ปัญหาความยากจน ปัญหาความอ่อนแอของวัฒนธรรมที่ดีงาม ปัญหาความอ่อนแอของปัจเจกบุคคล ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ภายหลังการประกาศชัยชนะเหนือสงครามยาเสพติด การดำรงสถานะเข่นนี้ให้ได้อย่างถาวร จึงต้องมีการกำหนดงานยาเสพติดผนวกเข้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นหลักที่ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นหลักชัยนำทางมาโดยตลอดผ่านโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการพัฒนาต่างๆ
การพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถแก่ราษฎรอาสาพลังแผ่นดิน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงของพระองค์ท่าน ผู้เป็นแม่ของแผ่นดินที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย และถือเป็นมงคลสูงสุด หากจะทำให้สิ่งที่พระราชทานนี้ บังเกิดผลเพิ่มพูนแก่หมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ อย่างไม่มีวันหมดสิ้น และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ย่อมเปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่หลั่งโลมจิตใจชาวไทยในหมู่บ้าน/ชุมชนต่างๆให้ฟื้นคืนสู่ความเข้มแข็ง สามารถต่อสู้กับปัญหาต่างๆได้อย่างมั่นคง ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุด
                      การจะทำให้พระราชทรัพย์พระราชทานจากพระองค์ท่าน ผู้เป็นแม่ของแผ่นดิน ไม่สูญสลายหมดสิ้นไป จึงจำเป็นต้องมีการขยายผล ต่อยอดตลอดไป ด้วยเหตุนี้สำนักงานป.ป.ส.และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีแนวความคิดที่จะทำให้พระราชทรัพย์พระราชทานดังกล่าว ขยายเป็นกองทุน เรียกว่า กองทุนแม่ของแผ่นดิน ในหมู่บ้าน/ชุมชนต่างๆ หากสามารถดำเนินการได้ตามนี้ ก็ จะเป็นปราการและศูนย์รวมสำคัญในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่จะผนึกกำลังกันทำให้มีความเข้มแข็งบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดังพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ท่านมาโดยตลอด
พ.ศ.๒๕๔๗ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มาของกองทุนแม่ของแผ่นดินเป็นภาคแรก จึงได้มีการพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นครั้งแรกของประเทศ โดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯเสด็จมาเป็นองค์ประธานเพื่อประทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ให้กับ ๖๗๒ หมู่บ้าน/ชุมชนจาก๑๙ จังหวัดในภาค ตอ/น. จาก การประเมินผล ๑ ปีของการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดินของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากกลุ่มตัวอย่าง ๔๒๔ หมู่บ้าน (ร้อยละ ๗๔ ) พบว่าหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ ๙๓.๗ ด้านรายรับ ได้มีการระดมทุนเพิ่มขึ้นจากเงินขวัญถุงที่ได้รับโดยร้อยละ ๗๙.๒ ใช้วิธีการบริจาคจากสมาชิก ร้อยละ ๕๘.๘ ใช้วิธีการทอดผ้าป่า ด้านการใช้จ่าย ได้มีการใช้จ่ายงินกองทุนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ ๖๘.๒ ให้กู้ยืม ร้อยละ ๕๓.๓ ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ร้อยละ ๑๒.๙ และ เหนือสิ่งอื่นใด ทำให้พลังของชุมชนต่างรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้จิตสำนึกร่วมที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
                        ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการขยายหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัด (ศตส.จ.)คัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีความเข้มแข็งในอำเภอและในเขตเทศบาลเมือง อำเภอ/เทศบาลเมืองละ ๑ แห่ง รวม ๑, ๐๓๓ หมู่บ้าน/ชุมชน เข้ารับพระราชทานเงินกองทุนแม่ของแผ่นดิน จากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในงานมหกรรมพลังไทย ต้านภัยยาเสพติด เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๘ ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี
รวมระยะ ๒ ปี (พ.ศ.๒๕๔๗ – ๒๕๔๘) มีหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ๑,๗๐๓ หมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่ง หมู่บ้าน/ชุมชน ที่ได้รับพระราชทานเงินกองทุนแม่ได้ระดมทุนเพิ่มเติมและดำเนินกิจกรรมพัฒนาและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านของตนเองเพื่อมุ่งสู่การ พึ่งพาตนเองและการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้ผลอย่างยั่งยืน
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถซึ่งทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยและพระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาโดยตลอด จึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งของพลังแผ่นดินเพื่อการพัฒนาและเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนตามรอยพระยุคลบาท สำหรับเป็นแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
ความหมาย……กองทุนแม่ของแผ่นดิน……
                           กองทุนแม่ของแผ่นดิน หมายถึง พระราชทรัพย์พระราชทานที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานให้กับราษฎรที่ทำหน้าที่ป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน และเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเทิดทูนไว้สูงสุด และเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎร สำนัก งาน ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้พัฒนาต่อยอดให้พระราชทรัพย์พระราชทานดังกล่าวเป็นศูนย์รวมของจิตใจของคนทั้งหมู่บ้าน/ชุมชน จึงมีแนวความคิดที่จะขยายหรือต่อยอดทรัพย์พระราชทาน ให้เป็น กองทุนแม่ของแผ่นดิน โดยมีแนวความคิด ดังนี้
                             ๑.กองทุนแม่ของแผ่นดิน ถือเป็นสิริมงคลสูงสุด เมื่ออยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชนใด ก็เปรียบเสมือน กำลังใจของพระองค์ท่านที่พระราชทานให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนนั้นๆในการทำความดี ปกปักรักษาท้องถิ่นของตัวให้รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งในความเข้มแข็งของประเทศชาติ
                             ๒.กองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นกองทุนขวัญถุง สำหรับหมู่บ้าน/ชุมชนที่ได้รับพระราชทาน เพื่อความมุ่งหมาย สร้างให้เป็นศูนย์รวมของกองทุนทั้งหมดในหมู่บ้าน/ชุมชน และให้เป็นตัวแทนของกองทุนที่ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการทำความดีทั้งกายและใจ การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมของหมู่บ้าน/ชุมชน หรือกองทุนเพื่อประโยชน์สาธารณะ การที่กองทุนแม่ของแผ่นดินหมดสิ้นไป ย่อมหมายความถึง ตัวแทนของความดีหมดสิ้นลงด้วย ทุกคนในหมู่บ้าน/ชุมชนจึงต้องปกปักรักษาให้งอกงาม ไม่สูญสลาย
                             ๓.กองทุนแม่ของแผ่นดิน ใช้เป็นเงื่อนไขกระตุ้นความตื่นตัวของชุมชนให้ มีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองมากยิ่งขึ้น และเป็นแบบอย่างของการพัฒนา การพึ่งตนเอง การระดมทุนในชุมชน และเป็นแบบอย่างของการบูรณาการการเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนเข้ากับกระบวน การพัฒนา

                                           http://www.kongtunmae-oncb.com/ เว็บไซด์แนะนำ


ผลการดำเนินงานกองทุนแม่ของอำเภอปลายพระยาจังหวัดกระบี่ ข้อมูล ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖

         สรุปกองทุนแม่ของแผ่นดินของอำเภอปลายพระยามีรายละเอียดคร่าวๆดังนี้
          ต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดิน
ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ มี ๒ หมู่ คือ หมู่ที่ ๔ ตำบลเขาต่อ และ หมู่ที่ ๒ ตำบลปลายพระยา
ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มี ๒ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๕ ตำบลปลายพระยา และหมู่ที่ ๘ ตำบลคีรีวง
ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ มี ๒ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๖ ตำบล คีรีวง และ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลปลายพระยา

           กองทุนแม่ของแผ่นดินของอำเภอปลายพระยา มีทั้งสิ้น  ๑๓ กองทุน


หมู่ที่่ ๒ คีรีวง          หมู่ที่ ๔ เขาเขน         หมู่ที่ ๒ เขาต่อ         หมู่ที่ ๑ ปลายพระยา ชุมชนปากน้ำ
หมู่ที่ ๓ คีรีวง          หมู่ที่ ๖ เขาเขน          หมู่ที่ ๕ เขาต่อ        หมู่ที่ ๘ ปลายพระยา
หมู่ที่๕ คีรีวง           หมู่ที่ ๓ เขาเขน                                     หมู่ที่ ๑๑ ปลายพระยา
หมู่ที่ ๗ คีรีวง                                                                   หมู่ที่ ๑๒ ปลายพระยา





ไม่มีความคิดเห็น: